Thursday, 21 November 2024

เศรษฐศาสตร์ของมูลค่า

มนุษย์โบราณดำรงชีพด้วยการหาของกินโดยไม่อาศัยเงินตรา และพัฒนามาเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารในการดำรงชีพ โดยพืชและสัตว์ที่นำมานั้นมาจากธรรมชาติอันไม่มีใครเป็นเจ้าของ

เมื่อพิจารณามูลค่าของการดำรงชีพจึงมีเพียงแรงงานเท่านั้นที่ใช้ในการดำรงชีพ ต่อมามนุษย์รวมกลุ่มกันและเริ่มรู้จักแบ่งงานกันทำ จึงเริ่มมีการใช้ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของ ทำให้มูลค่าสิ่งของมีไม่เท่ากันตามปริมาณซื้อและขาย (ในกรณีที่ใช้ปริมาณซื้อขายเป็นตัวกำหนดมูลค่า)

เราจะพบว่าสินค้าบางอย่างสูงเกินมูลค่าที่แท้จริง และบางสินค้าต่ำเกินจริง(แต่อาจพบได้น้อยกว่า) ในระบบการกำหนดมูลค่าเช่นนี้ได้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะปริมาณการซื้อและขายไม่สมดุล ผู้ขายต้องการขายที่ราคาสูงเพราะไม่ทราบปริมาณความต้องการซื้อที่แท้จริง และการคงคลังสินค้าไม่เป็นตามปริมาณการซื้อในพื้นที่นั้นๆ ทำให้เป็นภาระต้นทุนไปอีก

ในปัจจุบันผู้ผลิตอาศัยเทคโนโลยีในการติดต่อกับผู้ซื้อโดยตรงและคงคลังสินค้าที่เดียว โดยอาศัยเครือข่ายการจัดส่งสินค้าที่ครอบคลุมในการลดต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าหลายชนิดมีราคาที่ลดลง ผู้ผลิตได้กำไรที่เหมาะสม และผู้ซื้อได้ราคาที่ถูกลง

อย่างไรก็ตามในการกำหนดมูลค่าสินค้าเช่นนี้ เราอาจคิดได้ว่าวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใช้ผลิตสินค้านั้นไม่มีเจ้าของ ทุกคนควรมีสิทธิในการเข้าถึงวัตถุดิบเท่าๆกันหรือไม่ นี่เป็นคำถามเปิดที่เราควรคำนึงถึงในยุคที่ฐานะทางเศรษฐกิจของคนเหลื่อมล้ำกันสูงในปัจจุบัน